วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การอ่านโน้ตดนตรีสากล(ระดับเสียงของตัวโน้ต)

     ต่อจากเรื่องที่แล้ว (ความยาวของตัวโน้ต) ในโพสต์นี้จะมาพูดถึงเรื่องระดับเสียงของตัวโน้ตที่อยู่บนบรรทัดห้าเส้นกันครับ
     จากครั้งที่แล้วจะเห็นว่าลักษณะของตัวโน้ตแบบต่างๆเป็นการบอกถึงค่าความยาวของตัวโน้ตแต่ละชนิด และเมื่อโน้ตเหล่านั้นมาอยู่บนบรรทัดห้าเส้น จะเป็นการบอกให้รู้ถึงระดับเสียงของโน้ตตัวนั้นด้วย

ชื่อของตัวโน้ต
     ตัวโน้ตแต่ละดัวจะมีชื่อเรียกต่างๆกัน และมีตัวอักษรที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของตัวโน้ตนั้นๆ

ตัวอักษร                             :      C         D      E       F       G      A      B

ชื่อโน้ต                               :     โด       เร       มี     ฟา    ซอล   ลา     ที

ชื่อโน้ตภาษาอังกฤษ          :     Do     Re     Mi     Fa     Sol     La     Ti

เมื่อมาอยู่บนบรรทัดห้าเส้นจะเป็นดังนี้
                      C                D               E               F                  G                A               B              C


    จากภาพ ตัวโน้ตจะถูกเรียงจากเสียงต่ำไล่ขึ้นไปหาเสียงสูงตามลำดับ เริ่มจาก C D E F G A B และถัดไปคือโน้ต C ซึ่งมีเสียงสูงกว่า C ตัวแรก

* วิธีนับลำดับของเส้นบนบรรทัดห้าเส้นคือ นับจากล่างขึ้นบน เส้นล่างสุด คือเส้นที่ 1 (เส้นของโน้ตตัว E)
เรียงขึ้นไปตามลำดับจนถึงเส้นบนสุด คือเส้นที่ 5

ตำแหน่งของโน้ตแต่ละตัวบนคีย์ Piano



ระยะห่างเต็มเสียงและครึ่งเสียง (Whole Step & Half Step)
     จากภาพคีย์ของ Piano จะเห็นว่าบรรดาโน้ต C D E F G A B C ล้วนอยู่บนคีย์สีขาวทั้งสิ้น แต่โน้ตบางตัวมีคีย์สีดำคั่นกลางอยู่ และบางตัวเป็นคีย์สีขาวที่อยู่ติดกัน ซึ่งเราจะถือว่าคีย์ที่อยู่ติดกันนั้นเป็นระยะห่างครึ่งเสียง (Half Step) และคีย์ที่อยู่ห่างกัน 2 ครึ่งเสียง จะเรียกว่าระยะห่างเต็มเสียง(Whole Step) หรือ 1 เสียงเต็มนั่นเอง
     โน้ตที่มีระยะห่างเต็มเสียง ได้แก่ C-D, D-E, F-G, G-A และ A-B
     โน้ตที่มีระยะห่างครึ่งเสียง ได้แก่ E-F และ B-C

แล้วคีย์สีดำมีไว้ทำไม? เราจะได้รู้กันในหัวข้อถัดไปครับ

เครื่องหมายแปลงเสียง (Accidental)
     ใช้ในการเพิ่มหรือลดระดับเสียงของตัวโน้ตให้สูงขึ้นหรือต่ำลงครึ่งเสียง
เครื่องหมายแปลงเสียงมีลักษณะดังนี้

เครื่องหมายชาร์ป (Sharp)
- ใช้เพิ่มระดับเสียงของตัวโน้ตให้ สูง ขึ้นครึ่งเสียง




เครื่องหมายแฟลต (Flat)
- ใช้ลดระดับเสียงของตัวโน้ตให้ ต่ำ ลงครึ่งเสียง




เครื่องหมายเนเชอรัล (Natural)
- ใช้ยกเลิกเครื่องหมาย Accidental ต่างๆ ทำให้โน้ตกลับมาเป็นเสียงเดิม





นอกจากนี้ยังมี

เครื่องหมายดับเบิลชาร์ป (Double Sharp)
- ใช้เพิ่มระดับเสียงของตัวโน้ตให้ สูง ขึ้น 1 เสียง




เครื่องหมายดับเบิลแฟลต (Double Flat)
- ใช้ลดระดับเสียงของตัวโน้ตให้ ต่ำ ลง 1 เสียง





     เครื่องหมาย Double Sharp และ Double Flat สามารถยกเลิกได้ด้วยเครื่องหมาย Natural เช่นกัน และจะเปลี่ยนกลับไปเป็นเสียงเดิมทันที

     การเขียนชื่อโน้ตที่มีเครื่องหมาย Accidental จะเขียนชื่อโน้ตนำหน้าแล้วใส่เครื่องหมายตามหลัง
เช่น ซอลชาร์ป จะเขียนได้เป็น G# ,  มีแฟลต เขียนได้เป็น Eb
     ส่วนการเขียนโน้ตที่ติดเครื่องหมาย Accidental บนบรรทัดห้าเส้น จะเขียนเครื่องหมายไว้ด้านหน้าของตัวโน้ต


     เมื่อมีโน้ตที่ติดเครื่องหมาย Accidental แล้ว โน้ตที่อยู่ในระดับเสียงเดียวกันตัวต่อๆไปในห้องนั้น จะถูกแปลงเสียงตามไปด้วย จนกว่าจะมีเครื่องหมาย Natural หรือขึ้นห้องใหม่แล้ว จึงจะยกเลิกเครื่องหมาย Accidental นั้น และกลับมาเป็นเสียงเดิม
     ตัวอย่างบนบรรทัดห้าเส้นครับ
                                                              
     จากโน้ตตัวอย่าง 
C ตัวแรก เป็นเสียง C ปกติ
C ตัวที่สอง เป็นเสียง C# เนื่องจากติดเครื่องหมาย Sharp ทำให้เสียงสูงขึ้นครึ่งเสียง
C ตัวที่สาม เป็นเสียง C# เนื่องจาก C ตัวที่สองติดเครื่องหมาย Sharp ซึ่งมีผลกับโน้ตเดียวกันในห้องนั้น
C ตัวที่สี่ เป็นเสียง C ปกติ เพราะมีเครื่องหมาย Natural ซึ่งยกเลิกผลของเครื่องหมาย Sharp

     กลับมาตามสัญญากับเรื่องคีย์สีดำบน Piano ครับ 

     เห็นภาพนี้แล้วพอจะนึกอะไรออกมั้ยครับ
ลองทบทวน 2 ข้อความนี้ดู
1. คีย์ Piano ที่อยู่ติดกัน มีระยะห่างเท่ากับครึ่งเสียง (Half Step)
2. เครื่องหมาย Accidental (# และ b) มีไว้เพื่อเปลี่ยนระดับเสียงให้สูงขึ้นหรือต่ำลงครึ่งเสียง

     เมื่อพิจารณาแล้วก็สรุปได้ว่า คีย์สีดำบน Piano คือตัวโน้ตที่ติด Accidental (# และ b) นั่นเองครับ
แต่จะสังเกตุได้ว่าบนคีย์สีดำนั้นมีชื่อโน้ตอยู่สองชื่อ เช่น คีย์สีดำตัวแรก เป็นโน้ต C# และ Db
     นั่นเพราะว่า 
- เมื่อโน้ต C ติดเครื่องหมาย Sharp จะทำให้เสียงสูงขึ้นครึ่งเสียง และต้องย้ายไปอยู่บนคีย์สีดำทางขวา      ของคีย์ C
- เมื่อโน้ต D ติดเครื่องหมาย Flat จะทำให้เสียงต่ำลงครึ่งเสียง และต้องย้ายไปอยู่บนคีย์สีดำทางซ้าย        ของคีย์ D
     *ซึ่งทั้ง 2 คีย์นั้นอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน หรือก็หมายความว่า โน้ต C# และ Db ใช้คีย์สีดำคีย์เดียวกัน และเป็นโน้ตที่มีเสียงเหมือนกันนั่นเอง
     *สำหรับคู่ของ E-F และ B-C โน้ตสองคู่นี้ห่างกันครึ่งเสียงอยู่แล้ว แต่หากเติมเครื่องหมาย Accidental เข้าไปจะเป็น E# = F , Fb = E และ B# = C , Cb = B ตามคุณสมบัติของเครื่องหมาย Accidental 

     สำหรับการใช้เครื่องหมาย Double Sharp และ Double Flat ก็ใช้วิธีคิดแบบเดียวกัน เพียงแค่เปลี่ยนจากระยะครึ่งเสียงเป็นห่างหนึ่งเสียงเต็มครับ



หวังว่าคงช่วยให้เข้าใจและสามารถอ่านโน้ตดนตรีได้ดีขึ้นนะครับ ^ ^


BlackSwallowMusic
     

6 ความคิดเห็น:

  1. ระดับเสียงที่สูงที่สุดคือ?????

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ21 มกราคม 2565 เวลา 01:33

    ออหอ เขียนดีมากเลย แบบอ่านแล้วเข้าใจเลย ขอบคุณนะคะ

    ตอบลบ