วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558

[Sheet Music] Kisetsu wa Tsugitsugi Shindeiku - Tokyo Ghoul √A ED

     Kisetsu wa Tsugitsugi Shindeiku (Seasons die one after another) เพลง Ending ของ "Tokyo Ghoul √A" ที่จบมานานแสนนานแล้ว เมื่อวันก่อนเพิ่งได้ย้อนกลับไปดู เลยนึกอยากทำเพลงนี้ขึ้นมา ก็เลยจัดซะเลย 
     ดูไปดูมาเรื่องนี้มีเพลงเพราะๆอยู่เยอะเหมือนกันนะ บางเพลงใช้แค่ฉากเดียวเองแต่ถึงกับทำให้ต้องไปหาเพลงเต็มมาฟังจนได้ 


คลิปนี้ผมเอาตัว Official ของวง Amazarashi มาให้ดูครับ
อาจจะแหวะๆเล็กน้อยถึงมากที่สุด


แอแฮ่


นี่โน้ตครับ





     เพลงนี้คีย์ C Major และโน้ตไม่กระโดดมาก อาจทำให้รู้สึกว่าง่ายดายเหลือเกิน ซึ่งมันก็ง่ายนั่นแหละครับ แต่โน้ตเยอะก็อาจจะเหนื่อยหน่อย ยังไงก็สู้ๆครับ :P





BlackSwallowMusic
_/\_

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

[Sheet Music] Greensleeves - Traitional English

Greensleeves in C Major




Greensleeves in G Major




Greensleeves in F Major







BlackSwallowMusic
_/\_

Easy Sheet Music

     โพสต์นี้เป็นการรวบรวมลิงค์ของโน้ตเพลงสั้นๆง่ายๆในระดับเบื้องต้นนะครับ ส่วนใหญ่จะเป็นโน้ตที่ทำมาให้ Flute แต่เครื่องดนตรีอื่นๆที่เป็น C Instrument ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกันครับ
     For this posts is collection of easy sheet music for beginner. Most of the notes are arranged for Flute but C Instrument can be used too.


วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

[Sheet Note] The Show - Lenka

     เพลง The Show ของ Lenka ด้วยทำนองที่น่ารัก ฟังสบายๆ เชื่อว่าหลายๆคนคงคุ้นหูอยู่บ้าง ตอนแรกไม่เคยคิดจะทำโน้ตเพลงนี้มาก่อนเลย แต่เรื่องก็คือว่านักเรียนของผมอยากเล่นเพลงนี้ ก็เลยต้องทำไปให้ 5555
     ได้ยินชื่อเพลงครั้งแรกก็ยังงงๆ The Show เพลงอะไรหว่า  แต่พอได้ฟังก็อ๋อ นึกออกทันที แต่จำไม่ได้แฮะ ว่าเคยได้ฟังตอนไหนเนี่ยย


เอาไปลองฟังเผื่อใครยังไม่รู้จักครับ





และโน้ตเพลง (คราวนี้แถมเนื้อร้องกับคอร์ดให้ด้วยน้าาา)
    *โน้ตตัวเขบ็ตจังหวะยกให้เล่นเป็น Swing นะครับ ตามที่เขียนไว้ทางซ้ายบนเลย





BlackSwallowMusic
_/\_




วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

[Sheet Note] Canon in D Major - Johann Pachelbel

     บทเพลงอันโด่งดังของ Johann Pachelbel นักประพันธ์เพลงในยุค Baroque ซึ่งเพลงนี้ไม่ว่าใครๆก็ต้องเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง ในปัจจุบันเรามักจะได้ยินผ่านการบรรเลงด้วย Piano, Violin หรือเครื่องดนตรีอื่นๆ แต่แท้จริงแล้วสกอร์เพลงฉบับดั้งเดิมนั้นถูกประพันธ์ขึ้นสำหรับ Violin 3 ตัว และเครื่องเสียงต่ำที่ใช้เดินแนวเบส ซึ่งอาจเป็น Cello, Bouble Bass หรือ Bassoon
    ในสกอร์ดั้งเดิม แนวเบสจะเล่นโน้ตกลุ่มเดิมวนไปมา ส่วน Violin จะเล่นทำนองเดียวกัน แต่เริ่มไม่พร้อมกัน โดยเว้นระยะห่างกันแนวละ 4 ห้อง
    ผลงานต้นฉบับชิ้นนี้สูญหายไปในช่วงศตวรรษที่ 17 (เช่นเดียวกับผลงานของนักประพันธ์อีกหลายๆท่าน) แต่ได้ถูกค้นพบในศตวรรษที่ 20 และได้รับการเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1919 บันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1940
    ในปัจจุบันบทเพลงนี้ได้ถูกเรียบเรียงใหม่หลายเวอร์ชั่น ทั้ง เปลี่ยนคีย์ (บางทีเราอาจเจอ Canon in C ของ Johann Pachelbel ซึ่งจะเป็นเพลงเดียวกันที่ถูกนำไปเรียบเรียงนั่นเอง) และเรียบเรียงใหม่สำหรับเครื่องดนตรีอื่นๆ ซึ่งอาจมีการตัดโน้ต หรือเพิ่มโน้ตทำให้ต่างไปจากต้นฉบับเล็กน้อย


เนื่องจากมีหลายเวอร์ชั่นเหลือเกิน เลยเลือกคลิปมาให้ไม่ถูกเลยจ้าา (เชิญที่ Youtube)

โน้ตนี้ สำหรับ Solo C Instrument (Flute, Violin และอื่นๆ)







     สำหรับเครื่องดนตรีที่เล่นประกอบ 
- เครื่องคอร์ด (Piano, Guitar)
   เล่นคอร์ด  D - A - Bm - F#m - G - D - G - A  วนจนจบเลยครับ จะใช้ Pattern ไหนก็ได้ ตามที่ชอบเลย    สำหรับโน้ตเวอร์ชั่นนี้จะเล่นคอร์ดละ 2 จังหวะ (ห้องละ 2 คอร์ด)
- ไลน์เบส
   เล่นโน้ต D - A - B - F# - G - D - G - A  ตัวละ 2 จังหวะเช่นกันคร้าบบบ



BlackSwallowMusic







(ข้างล่างนี่ไม่ต้องสนใจก็ได้)
#Canon in D Major for C Instrument
#Canon in D Major for Flute
#Canon in D Major for Violin

#Canon in D Major Chord
D - A - Bm - F#m - G - D - G - A


วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ว่าด้วยเรื่องของเสียงทางวิทยาศาสตร์และทางดนตรี

ทางวิทยาศาสตร์

     หากว่ากันตามหลักวิทยาศาสตร์ เสียงเป็นคลื่นเชิงกลที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุ
(คลื่นมี 2 ชนิด คือ)
     *คลื่นเชิงกล คือ คลื่นที่ต้องอาศัยตัวกลางในการเคลื่อนที่ เช่น คลื่นเสียง คลื่นที่ผิวน้ำ คลื่นสปริง อีกประเภทคือ
       คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คือคลื่นที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวกลางในการเคลื่อนที่ และสามารถเคลื่อนที่ในสุญญากาศได้ เช่น คลื่นแสง คลื่นวิทยุ รังสีต่างๆ

     เมื่อวัตถุสั่นสะเทือนก็จะทำให้เดินการอัดตัวและขยายตัวของคลื่นเสียงและคลื่นเสียงจะเดินทางผ่านอากาศมายังหูทำให้เราได้ยินเสียงนั่นเอง แต่เสียงก็สามารถเดินทางผ่านสื่อกลางอื่นๆได้เช่นกัน ได้แก่ ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ แต่จะไม่สามารถเดินทางผ่านสุญญากาศได้ตามคุณสมบัติของ คลื่นเชิงกล
     คลื่นเสียงสามารถสะท้อนได้เมื่อไปกระทบกับตัวกลางที่มีความหนาแน่นมากกว่า และสะท้อนได้ดีกับวัตถุที่เป็นของแข็งมีผิวเรียบ โดยคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงจะสะท้อนได้ดีกว่าคลื่นเสียงความถี่ต่ำ

คุณลักษณะของเสียง
1. ความถี่และระดับเสียง (pitch)
     คือ ระดับความสูง-ต่ำ ของเสียง สิ่งที่กำหนดระดับเสียงนั้นคือ ความเร็วในการสั่นสะเทือนของวัตถุ ยิ่งวัตถุสั่นสะเทือนเร็วเสียงก็จะยิ่งสูง โดยจะวัดความถี่(Frequency)ของการสั่นสะเทือนเป็นจำนวนครั้งต่อวินาที เช่น 440 รอบต่อวินาที, 880 รอบต่อวินาที เป็นต้น 
2. ความยาวช่วงคลื่น (wavelength) 
     คือ ระยะห่างระหว่างยอดคลื่นสองยอดที่ติดกันซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการอัดตัวของคลื่นเสียงยิ่งความยาวช่วงคลื่นมีมาก ความถึ่ของเสียงและระดับเสียงก็จะยิ่งต่ำลง
3. แอมปลิจูด (amplitude) 
     คือ ความสูงหรือความกว้างระหว่างยอดคลื่นและท้องคลื่นของคลื่นเสียง(จุดบนสุดและต่ำสุดของเส้นคลื่น) ซึ่งมีผลกับความเข้มของเสียง (Intensity) หรือความดังของเสียง (Loudness) ยิ่งแอมปลิจูดมีค่ามาก(เส้นคลื่นมีความสูงมาก) ความเข้มหรือความดังของเสียงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น




ทางดนตรี

     ดนตรีเป็นวิชาเกี่ยวกับเสียงโดยตรง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องของเสียง ซึ่งในวิทยาศาสตร์มีสาขาวิชาที่เกี่ยวกับเสียง เรียกว่า สวนศาสตร์(สะ-วะ-นะ-สาด) หรือ Acoustics โดยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเสียง ทั้งลักษณะคุณสมบัติ และการประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ โดยสาขาย่อยของสวนศาสตร์ที่เกียวข้องกับดนตรีคือ "ดุริยางคสวนศาสตร์ (Musical Acoustics)"

เสียงดนตรีสามารถแบ่งแยกคุณลักษณะต่างๆได้ดังนี้
1. ระดับเสียง(Pitch)
     หมายถึงระดับความสูง-ต่ำของเสียง ซึ่งเป็นผลมาจากคลื่นความถี่ที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุ โดยอาจเป็นตัวเครื่องดนตรี หรือสาย ซึ่งคลื่นความถี่ที่เกิดจาก วัตถุที่สั่นสะเทือนเร็ว จะทำให้เกิดเสียงสูง และคลื่นความถี่ที่เกิดจาก วัตถุที่สั่นสะเทือนช้า จะทำให้เกิดเสียงต่ำ กล่าวคือ ยิ่งวัตถุสั่นสะเทือนเร็วมากจะทำให้เกิดเสียงสูง และวัตถุที่สั่นสะเทือนช้าจะทำให้เกิดเสียงต่ำ
     โดยค่าความถี่(Frequency)นี้ วัดได้จากจำนวนรอบที่สั่นสะเทือนของวัตถุต่อวินาที มีหน่วยเป็น เฮิรตซ์ ใช้ตัวอักษร Hz ยิ่งตัวเลข Hz มาก เสียงก็ยิ่งสูง และถ้ามีความถี่เพิ่มขึ้นเป็น 1 เท่าตัว จะทำให้ระดับเสียงของตัวโน้ตสูงขึ้น 1 ช่วงคู่แปด(Octave) เช่น โน้ต A4 มีค่าความถี่อยู่ที่ 440 Hz (สั่นสะเทือน 440 รอบต่อวินาที) ถูกเพิ่มความถี่ขึ้น 1 เท่าตัว จะกลายเป็นโน้ต A5 ซึ่งมีค่าความถี่อยู่ที่ 880 Hz (สั่นสะเทือน 880 รอบต่อวินาที)
     ซึ่งความถี่นี้ คือ Wavelenght นั่นเอง
2. ความเข้มของเสียง(Intensity) หรือ ความดังเบา(Volume)
     เกิดจากความแรงของการสั่นสะเทือนวัตถุ ยิ่งสั่นสะเทือนมากเสียงจะดัง และหากสั่นสะเทือนน้อยเสียงจะเบา ยกตัวอย่างเช่น หากเราตีกลองแรงๆ หนังกลองจะสั่นอย่างแรงทำให้เกิดเสียงดัง ในทางกลับกัน หากเราตีเบา หนังกลองจะสั่นเบา ทำให้เสียงเบาเช่นกัน
     ความแรงของการสั่นสะเทือนนี้ คือ Amplitude ยิ่งถ้ามี Amplitude ที่กว้างเสียงก็จะยิ่งดัง แต่ในระหว่างที่เสียงเดินทางนั้น ค่า Amplitude นี้ก็จะลดลงด้วย ทำให้เสียงเบาลง กล่าวคือระยะทางที่เสียงเดินทางก็มีผลต่อความเข้มหรือความดังเบาของเสียงด้วย
3. สีสันเสียง(Tone Color หรือ Timbre)
     แม้จะเป็นเสียงที่มีระดับเสียงและความดังระดับเดียวกัน แต่หากมาจากแหล่งกำเนิดเสียงที่แตกต่างกันก็ให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ให้ Violin กับ Flute เล่นโน้ตตัวเดียวกัน แต่เราก็สามารถรับรู้ได้ว่าเครื่องดนตรีทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะเสียงที่แตกต่างกัน
     ดังนั้น ทำนองเดียวกันที่เล่นโดยเครื่องดนตรีคนละชนิดก็จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันได้
4. คุณภาพเสียง(Tone Quality)
     ตามชื่อเลย หมายถึงคุณภาพของเสียง ยกตัวอย่างเช่น Piano สองยี่ห้อ มีเสียงที่ไม่เหมือนกัน ตัวแรกอาจเสียงใสกว่า และตัวที่สองมีเสียงที่หนักแน่น แม้จะเป็นตัวโน้ตเดียวกัน ความดังเท่ากันก็ตาม
     ในอีกแง่หนึ่งที่มักกล่าวถึงคุณภาพเสียง คือ กล่าวในเชิงเปรียบเทียบคุณภาพว่าดีมากหรือดีน้อย ซึ่งเกิดได้จาก คุณภาพวัสดุของเครื่องดนตรี ซึ่งมีผลกับคุณภาพเสียง และความสามารถของผู้บรรเลงหรือฝีมือนั่นเอง โดยส่วนมากแล้วหากคนสองคนลองผลัดกันเล่นเครื่องดนตรีเครื่องเดียวกัน เสียงที่ออกมาก็มีคุณภาพเสียงที่ต่างกัน
5. ความยาวของเสียง(Duration)
     คือระยะเวลาสั้น-ยาวของเสียงนั่นเอง หรือก็คือจังหวะของตัวโน้ต ซึ่งจังหวะนี้มีทั้ง จังหวะที่มีเสียง และ จังหวะหยุด(เงียบ) ซึ่งในดนตรี ทั้งเสียงและความเงียบล้วนมีความยาวทั้งสิ้น ซึ่งจะถูกกำหนดโดยสัญลักษณ์ต่างๆบนโน้ต



     ถึงแม้ดนตรีจะเป็นสื่อที่แสดงถึงศิลปะและอารมณ์โดยใช้เสียงต่างๆเป็นวิธีการสื่อสาร แต่เสียงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในวิทยาศาสตร์เช่นกัน ดังนั้นกระบวนการเกิดเสียงต่างๆในดนตรีจึงมีที่มาที่ไปและหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่แน่นอน ซึ่งทำให้ดนตรีเป็นศาสตร์ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งอารมณ์และเหตุผล


BlackSwallowMusic
_/\_



วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2558

[Sheet Note] Lost Time Memory - Kagerou Project

     Lost Time Memory เป็นเพลงในซีรี่ส์ Kagerou Project ของ Jin เพลงนี้เป็นเรื่องราวของ Kisaraki Shintarou เด็กอัจฉริยะ แต่เพราะการฆ่าตัวตายของ"อายาโนะ"เพื่อนสนิท ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนและหมกตัวเป็นนีทอยู่ในบ้านเป็นเวลา 2 ปี จนกระทั่งมีเหตุให้ต้องซื้อคอมพิวเตอร์ PC เครื่องใหม่จึงต้องจำใจออกไปข้างนอก


เพลงเวอร์ชั่นมนุษย์ร้อง โดยเสียงของ Kohta Matsuyama


เสียง Vocaloid

โน้ตครับ








     โน้ตเพลงนี้ค่อนข้างยาวพอสมควรเพราะมีตัวโน้ตเยอะ ซึ่งจังหวะ 210 ถือว่าเร็วมาก มีเปลี่ยนจังหวะช้าลงที่ห้อง 131 ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าใช่ 110 หรือไม่ แต่เขียนลงไปจากการประมาณเอา และกลับมาจังหวะเดิม 210 ที่ห้อง 145 ไปจนจบเพลง
     เรื่องคีย์ไม่ไช่ปัญหาสำหรับเพลงนี้ จะมีการเปลี่ยนไปมาระหว่าง D Major กับ F Major ซึ่งทั้งสองคีย์นี้ไม่ไช่คีย์ที่ยาก แต่ในเพลงจะเจอ Accidental ต่างๆเล็กน้อย ซึ่งต้องระวัง ส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่าเพลงนี้น่าจะใช้เวลาฝึกกันไม่นานนัก เพราะ Melody จะเล่นซ้ำไปซ้ำมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร




BlackSwallowMusic

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

[Sheet Note] Koibumi - Yanagi Nagi

     Koibumi (Love Letter) ผลงานเพลงของ Shinjo Orito ขับร้องโดย Yanagi Nagi ซึ่งเพลงนี้ได้ใช้เป็น Ending ของเรื่อง Rewrite ด้วย เนื้อเพลงก็เศร้าอยู่พอสมควร
     สำหรับ Yanagi Nagi นั้น เป็นนักร้อง/นักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น ซึ่งร้องอยู่ในเว็บ Nico Nico โดยใช้ชื่อ Gazelle และในปี 2009 - 2011 ก็มาเป็นนักร้องให้วง Supercell ก่อนจะแยกย้ายออกมาทำ Single เดี่ยว


เพลงพร้อมซับไทย

และโน้ตเพลง 2 แผ่น






     เพลงนี้มาพร้อมกับคีย์ Db Major ที่มีถึง 5 Flat ได้แก่ Bb Eb Ab Db และ Gb  แถมยังต้องระวังโน้ต Cb ในบางจุด และ เครื่องหมาย Natural ที่มีอยู่ประปราย
     สรุปโดยรวมแล้ว สิ่งที่ต้องระวังเพลงนี้คือเหล่า Accidental ทั้งหลาย ในเรื่องของจังหวะ และช่วงเสียงก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรมากนัก


BlackSwallowMusic

[Sheet Note] Utakata Hanabi - Supercell

     Utakata Hanabi อีกหนึ่งผลงานจากวง Supercell ที่ได้เสียงร้องของ Nagi Yanagi มาขับร้องให้ในเพลงนี้ และใช้เป็น Ending ลำดับที่ 14 ของ Anime เรื่อง Naruto Shippuden ที่โด่งดัง สำหรับแฟนๆนารุโตะก็อาจคุ้นหูอยู่บ้าง
     โดยความเห็นส่วนตัวแล้วเพลงนี้เป็นเพลงที่จังหวะไม่ถึงกับว่าช้ามาก แต่ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเพลงช้า อาจเป็นเพราะสำเนียงการร้องและประโยคของเพลงที่มีความต่อเนื่องกัน หรือสัดส่วนโน้ตที่มีโน้ตลากยาวเยอะหน่อย


ลองฟังกันดูครับ อันนี้เป็นคลิปจาก Channel ของ Supercell



และนี่โน้ตเพลงคร้าบบบบบ





     มากับเพลงคีย์ Ab Major อีกแล้ว ผมเป็นไม่ได้อะไรกับคีย์นี้มากนักหรอกนะครับ แค่บังเอิญเพลงที่ผมชอบมันเป็นคีย์นี้ซะส่วนใหญ่เท่านั้นเอง และมีเปลี่ยนคีย์ตอนท้ายเพลงครับ เป็น A Major โดยยังใช้ทำนองเดิมอยู่ เพียงแค่ Transpose ขึ้นไปครึ่งเสียง
     โน้ตห้องที่ 1 - 5 เป็น Intro ที่ Piano เล่นครับ จะเล่นหรือไม่เล่นก็ได้ตามใจ ผมแค่เอามาแถมให้เฉยๆครับเห็นมันเพราะดี แล้วก็อย่างที่บอกไปตอนแรกครับ จังหวะเพลงไม่ได้ช้ามาก แต่ประโยคต่างๆในเพลงอาจทำให้รู้สึกว่าช้า ช่วงรอยต่อระหว่างหลังจบประโยคและขึ้นประโยคใหม่จะอันตรายพอสมควร ดังนั้นอย่าหยุดหรือลากเสียงยาวนานเกินจังหวะ และขึ้นประโยคใหม่ให้ตรงจังหวะครับ ดังนั้นควรจับ Beat ตกให้ได้อย่างแม่นยำ อย่ายืดและอย่าเร่งจังหวะ

การมีสมาธิระหว่างฝึกซ้อมจะช่วยให้พัฒนาได้เร็วครับ
*Metronome ก็ช่วยได้เช่นกัน*

BlackSwallowMusic

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เครื่องหมายกำหนดจังหวะ(Time Signature)

     จากบทความ การอ่านโน้ตดนตรีสากล(ทำความรู้จักกับหน้าตาของโน้ตดนตรี) ได้กล่าวถึงเรื่อง Time Signature ไว้คร่าวๆดังนี้


          ลักษณะเป็นเลขสองตัวเรียงกันแนวตั้ง อยู่หลัง Clef และ Key Signature ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์บอกให้ทราบว่า แต่ละห้องของเพลงนั้นมีกี่จังหวะ
     การอ่านความหมายของ Time Signature
Time Signature นั้น เลขตัวบนและเลขตัวล่างจะมีความหมายต่างกัน คือ
- เลขตัวบน   ทำหน้าที่บอกว่าตัวโน้ตที่ถูกกำหนดโดยเลขตัวล่างมีทั้งหมดกี่ตัวในหนึ่งห้อง
- เลขตัวล่าง จะเอาไว้แทนค่าของตัวโน้ตที่จะเอาไปนับโดยเลขตัวบน
                     กล่าวคือเลขถ้าตัวล่าง เป็นเลข 1 จะใช้โน้ตตัวกลม          (มีค่า4จังหวะ) แทนค่า
                     กล่าวคือเลขถ้าตัวล่าง เป็นเลข 2 จะใช้โน้ตตัวขาว           (มีค่า2จังหวะ) แทนค่า
                     กล่าวคือเลขถ้าตัวล่าง เป็นเลข 4 จะใช้โน้ตตัวดำ             (มีค่า1จังหวะ) แทนค่า
                     กล่าวคือเลขถ้าตัวล่าง เป็นเลข 8 จะใช้โน้ตตัวเขบ็ต1ชั้น (มีค่า1/2จังหวะ) แทนค่า
                     กล่าวคือเลขถ้าตัวล่าง เป็นเลข 16 จะใช้โน้ตเขบ็ต2ชั้น    (มีค่า1/4จังหวะ) แทนค่า

และได้มีการยกตัวอย่างวิธีการอ่าน Time Signature ไว้เบื้องต้น ในโพสนี้เราจะพูดถึงรายละเอียดถัดมา คือ การจำแนกประเภท ของ Time Signature ประเภทต่างๆ

อัตราจังหวะ (Meter) แบบต่างๆมีดังนี้
1. Simple Time (อัตราจังหวะธรรมดา) 
2. Compound Time (อัตราจังหวะผสม)
3. Complex Time (อัตราจังหวะซ้อน)

     อัตราจังหวะแบบ Simple Time และ Compound Time สามารถแบ่งย่อยได้อีก ตามจำนวนชีพจรจังหวะ (Beat) ที่มีในแต่ละห้อง หรือก็คือจำนวนครั้งที่เคาะจังหวะนั่นเอง 
- Duple Time อัตราจังหวะที่มี 2 Beat ใน 1 ห้อง
- Triple Time อัตราจังหวะที่มี 3 Beat ใน 1 ห้อง
- Quardruple Time อัตราจังหวะที่มี 4 Beat ใน 1 ห้อง

     เมื่อนำประเภทของ Meter และ Beat มารวมกันจะได้ Time Signature ประเภทต่างๆดังนี้

กลุ่ม Simple Time

Simple Duple Time (อัตราจังหวะสองธรรมดา)
ได้แก่

  2
  2
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตตัวขาว 2 ตัว
- นับโน้ตตัวขาว 1 ตัวเป็น 1 Beat

  2
  4
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตตัวดำ 2 ตัว
- นับโน้ตตัวดำ 1 ตัวเป็น 1 Beat

  2
  8
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 2 ตัว
- นับโน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 1 ตัวเป็น 1 Beat

Simple Triple Time (อัตราจังหวะสามธรรมดา)
ได้แก่

  3
  2
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตตัวขาว 3 ตัว
- นับโน้ตตัวขาว 1 ตัวเป็น 1 Beat

  3
  4
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตตัวดำ 3 ตัว
- นับโน้ตตัวดำ 1 ตัวเป็น 1 Beat


  3
  8
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 3 ตัว
- นับโน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 1 ตัวเป็น 1 Beat


Simple Quardruple Time (อัตราจังหวะสี่ธรรมดา)


  4
  2
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตตัวขาว 4 ตัว
- นับโน้ตตัวขาว 1 ตัวเป็น 1 Beat

  4
  4
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตตัวดำ 4 ตัว
- นับโน้ตตัวดำ 1 ตัวเป็น 1 Beat


  4
  8
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 4 ตัว
- นับโน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 1 ตัวเป็น 1 Beat


กลุ่ม Compound Time

Compound Duple Time (อัตราจังหวะสองผสม)

  6
  4
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตตัวดำ 6 ตัว
- นับโน้ตตัวดำ 3 ตัวเป็น 1 Beat

  6
  8
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 6 ตัว
- นับโน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 3 ตัวเป็น 1 Beat


   6
  16
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตเขบ็ต 2 ชั้น 6 ตัว
- นับโน้ตเขบ็ต 2 ชั้น 3 ตัวเป็น 1 Beat


Compound Triple Time (อัตราจังหวะสามผสม)


  9
  4
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตตัวดำ 9 ตัว
- นับโน้ตตัวดำ 3 ตัวเป็น 1 Beat

  9
  8
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 9 ตัว
- นับโน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 3 ตัวเป็น 1 Beat


   9
  16
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตเขบ็ต 2 ชั้น 9 ตัว
- นับโน้ตเขบ็ต 2 ชั้น 3 ตัวเป็น 1 Beat


Compound Quardruple Time (อัตราจังหวะสี่ผสม)


  12
   4
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตตัวดำ 12 ตัว
- นับโน้ตตัวดำ 3 ตัวเป็น 1 Beat

  12
   8
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 12 ตัว
- นับโน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 3 ตัวเป็น 1 Beat


  12
  16
- ในหนึ่งห้องมี โน้ตเขบ็ต 2 ชั้น 12 ตัว
- นับโน้ตเขบ็ต 2 ชั้น 3 ตัวเป็น 1 Beat



Complex Time

     เป็นอัตราจังหวะที่ไม่ตรงกับ 2 กลุ่มที่กล่าวมา ชีพจรจังหวะ (Beat) จะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับผู้ประพันธ์เพลง ซึ่งจะบอกไว้ด้านบน Time Signature 

ตัวอย่าง Time Signature แบบ Complex Time

  5
  8
ใน 1 ห้อง มีโน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 5 ตัว ซึ่งอาจแบ่งชีพจรจังหวะเป็น 2 Beat คือ (2+3) หรือ (3+2) ก็ได้

  7
  8
ใน 1 ห้อง มีโน้ตเขบ็ต 1 ชั้น 7 ตัว สามารถแบ่งชีพจรจังหวะเป็น 3 Beat คือ (3+2+2), (2+3+2) หรือ (2+2+3) ก็ได้


Time Signature แบบสัญลักษณ์
    นอกจากการใช้ตัวเลขในการกำหนดอัตราจังหวะแล้ว ยังมีการใช้สัญลักษณ์แทนได้อีกด้วย


Common Time
- มีค่าเท่ากับอัตราจังหวะ 4/4 สามารถใช้แทนกันได้
- มีชื่อเรียกอีกว่า Imperfect Time
Alla Breve
- โน้ตในแต่ละห้องจะเขียนเหมือน อัตราจังหวะ 4/4 แต่จะคิดชีพจรจังหวะ เป็นแบบ Duple Time หรือ อัตราจังหวะแบบ 2/2 มักพบบ่อยในเพลงมาร์ช (March)
- มีชื่อเรียกอื่นอีก ได้แก่ Colloquially, Cut Time และ Cut Common Time







*การใช้และเปลี่ยน Time Signature ในเพลง*
     Time Signature นั้นจะถูกกำหนดไว้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเพลง และจะใช้อัตราจังหวะนั้นไปจนจบเพลง นอกจากว่า จะมีการเปลี่ยน Time Signature
     โดยการเปลี่ยนนั้น จะทำได้โดยการเขียน Time Signature ใหม่ลงในห้องที่เราต้องการ โดยเขียนไว้ที่ต้นห้องเท่านั้น(ก่อนตัวโน้ตจังหวะแรก) ไม่สามารถเขียนแทรกระหว่างโน้ตในห้องได้ และจะใช้อัตราจังหวะใหม่นี้ไปจนจบเพลง หากไม่มีการเปลี่ยนอีกครั้ง


     Time Signature ที่มักใช้ประจำ คือ Simple Time และ Compound Time เป็นส่วนใหญ่ ส่วน Complex Time จะไม่ค่อยมีโอกาสได้พบเจอมากนัก



BlackSwallowMusic

วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

[Sheet Note] Souzou Forest (Imagination Forest) - Kagerou Project

     Souzou Forest หรือ Imagination Forest  เป็นอีกเพลงในซีรีส์ Kagerou Project โดยเพลงนี้จะเล่าถึงเรื่องราวของ Kozakura Marry ที่เก็บตัวอยู่ในบ้านกลางป่า ไม่กล้าออกไปเผชิญโลกภายนอก เพราะกลัวว่าพลังของตนเองจะทำให้คนอื่นกลายเป็นหิน

เวอร์ชั่นมนุษย์ร้องโดย Takumi Yoshida



เวอร์ชั่น Vocaloid แถมด้วยเนื้อเพลงและแปลไทยโดย คุณ bell4210lovely



     ทั้งสองเวอร์ชั่นนี้จะใช้เนื้อร้องเดียวกัน แต่ใช้ดนตรีที่ต่างกันเล็กน้อย โดยเวอร์ชั่นคนร้องจะมีเสียงกลุ่มเครื่องลมทองเหลือง (Brass) เข้ามาเสริม และทำนอง (Melody) ของท่อนโซโล่ก็ไม่เหมือนกัน แต่โน้ตนี้ก็สามารถใช้เล่นได้กับทั้งสองเวอร์ชั่น

ถ้าชอบก็เข้าไปสู่ผืนป่าแห่งจินตนาการกันเลย







     เพลงนี้อยู่ในคีย์ Ab Major ติด 4 แฟลต คือ Bb Eb Ab Db ซึ่ง Key Signature จะไม่ไช่ปัญหามากนักแต่ด้วยจังหวะ 180 นี่ก็ถือว่าเร็ว ซึ่งก็ยังดีที่ไม่เจอโน้ตเขบ็ต 2 ชั้น แต่ก็มีจังหวะขัด (Syncopation) หรือเรียกง่ายๆว่าจังหวะยก เยอะอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้น ถ้าเปิดโน้ตมาเล่นเร็วเลยก็คงมึนอยู่เหมือนกัน แนะนำให้ฝึกด้วยจังหวะช้าก่อนครับ แล้วค่อยเล่นเร็วขึ้น (ช้าแต่ชัวร์ ดีกว่า เร็วแล้วมั่ว)
    ความกว้างของช่วงเสียง(Range)ในเพลงนี้ ถือว่ากว้าง ทั้งสำหรับคนร้องและเครื่องดนตรี อย่างที่เคยบอกไว้ว่าโน้ตที่ผมทำนั้น เป็น Arrange for Flute และเครื่องอื่นที่เป็น C Instrument ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน แต่เพลงนี้สำหรับ Flute แล้ว ส่วนตัวบอกเลยว่า สูงมากกกกก แต่ก็สู้ๆกันไปครับ 55555

* ใครจะเปรี้ยวแกะท่อนโซโล่มาเล่นก็ตามสบายนะ (ใน Youtube ผมเคยเห็น Clarinet คนนึงเล่นอยู่เหมือนกัน)


หวังว่าจะไม่ยากเกินความพยายามนะครับ

BlackSwallowMusic



การอ่านโน้ตดนตรีสากล(ระดับเสียงของตัวโน้ต)

     ต่อจากเรื่องที่แล้ว (ความยาวของตัวโน้ต) ในโพสต์นี้จะมาพูดถึงเรื่องระดับเสียงของตัวโน้ตที่อยู่บนบรรทัดห้าเส้นกันครับ
     จากครั้งที่แล้วจะเห็นว่าลักษณะของตัวโน้ตแบบต่างๆเป็นการบอกถึงค่าความยาวของตัวโน้ตแต่ละชนิด และเมื่อโน้ตเหล่านั้นมาอยู่บนบรรทัดห้าเส้น จะเป็นการบอกให้รู้ถึงระดับเสียงของโน้ตตัวนั้นด้วย

ชื่อของตัวโน้ต
     ตัวโน้ตแต่ละดัวจะมีชื่อเรียกต่างๆกัน และมีตัวอักษรที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของตัวโน้ตนั้นๆ

ตัวอักษร                             :      C         D      E       F       G      A      B

ชื่อโน้ต                               :     โด       เร       มี     ฟา    ซอล   ลา     ที

ชื่อโน้ตภาษาอังกฤษ          :     Do     Re     Mi     Fa     Sol     La     Ti

เมื่อมาอยู่บนบรรทัดห้าเส้นจะเป็นดังนี้
                      C                D               E               F                  G                A               B              C


    จากภาพ ตัวโน้ตจะถูกเรียงจากเสียงต่ำไล่ขึ้นไปหาเสียงสูงตามลำดับ เริ่มจาก C D E F G A B และถัดไปคือโน้ต C ซึ่งมีเสียงสูงกว่า C ตัวแรก

* วิธีนับลำดับของเส้นบนบรรทัดห้าเส้นคือ นับจากล่างขึ้นบน เส้นล่างสุด คือเส้นที่ 1 (เส้นของโน้ตตัว E)
เรียงขึ้นไปตามลำดับจนถึงเส้นบนสุด คือเส้นที่ 5

ตำแหน่งของโน้ตแต่ละตัวบนคีย์ Piano



ระยะห่างเต็มเสียงและครึ่งเสียง (Whole Step & Half Step)
     จากภาพคีย์ของ Piano จะเห็นว่าบรรดาโน้ต C D E F G A B C ล้วนอยู่บนคีย์สีขาวทั้งสิ้น แต่โน้ตบางตัวมีคีย์สีดำคั่นกลางอยู่ และบางตัวเป็นคีย์สีขาวที่อยู่ติดกัน ซึ่งเราจะถือว่าคีย์ที่อยู่ติดกันนั้นเป็นระยะห่างครึ่งเสียง (Half Step) และคีย์ที่อยู่ห่างกัน 2 ครึ่งเสียง จะเรียกว่าระยะห่างเต็มเสียง(Whole Step) หรือ 1 เสียงเต็มนั่นเอง
     โน้ตที่มีระยะห่างเต็มเสียง ได้แก่ C-D, D-E, F-G, G-A และ A-B
     โน้ตที่มีระยะห่างครึ่งเสียง ได้แก่ E-F และ B-C

แล้วคีย์สีดำมีไว้ทำไม? เราจะได้รู้กันในหัวข้อถัดไปครับ

เครื่องหมายแปลงเสียง (Accidental)
     ใช้ในการเพิ่มหรือลดระดับเสียงของตัวโน้ตให้สูงขึ้นหรือต่ำลงครึ่งเสียง
เครื่องหมายแปลงเสียงมีลักษณะดังนี้

เครื่องหมายชาร์ป (Sharp)
- ใช้เพิ่มระดับเสียงของตัวโน้ตให้ สูง ขึ้นครึ่งเสียง




เครื่องหมายแฟลต (Flat)
- ใช้ลดระดับเสียงของตัวโน้ตให้ ต่ำ ลงครึ่งเสียง




เครื่องหมายเนเชอรัล (Natural)
- ใช้ยกเลิกเครื่องหมาย Accidental ต่างๆ ทำให้โน้ตกลับมาเป็นเสียงเดิม





นอกจากนี้ยังมี

เครื่องหมายดับเบิลชาร์ป (Double Sharp)
- ใช้เพิ่มระดับเสียงของตัวโน้ตให้ สูง ขึ้น 1 เสียง




เครื่องหมายดับเบิลแฟลต (Double Flat)
- ใช้ลดระดับเสียงของตัวโน้ตให้ ต่ำ ลง 1 เสียง





     เครื่องหมาย Double Sharp และ Double Flat สามารถยกเลิกได้ด้วยเครื่องหมาย Natural เช่นกัน และจะเปลี่ยนกลับไปเป็นเสียงเดิมทันที

     การเขียนชื่อโน้ตที่มีเครื่องหมาย Accidental จะเขียนชื่อโน้ตนำหน้าแล้วใส่เครื่องหมายตามหลัง
เช่น ซอลชาร์ป จะเขียนได้เป็น G# ,  มีแฟลต เขียนได้เป็น Eb
     ส่วนการเขียนโน้ตที่ติดเครื่องหมาย Accidental บนบรรทัดห้าเส้น จะเขียนเครื่องหมายไว้ด้านหน้าของตัวโน้ต


     เมื่อมีโน้ตที่ติดเครื่องหมาย Accidental แล้ว โน้ตที่อยู่ในระดับเสียงเดียวกันตัวต่อๆไปในห้องนั้น จะถูกแปลงเสียงตามไปด้วย จนกว่าจะมีเครื่องหมาย Natural หรือขึ้นห้องใหม่แล้ว จึงจะยกเลิกเครื่องหมาย Accidental นั้น และกลับมาเป็นเสียงเดิม
     ตัวอย่างบนบรรทัดห้าเส้นครับ
                                                              
     จากโน้ตตัวอย่าง 
C ตัวแรก เป็นเสียง C ปกติ
C ตัวที่สอง เป็นเสียง C# เนื่องจากติดเครื่องหมาย Sharp ทำให้เสียงสูงขึ้นครึ่งเสียง
C ตัวที่สาม เป็นเสียง C# เนื่องจาก C ตัวที่สองติดเครื่องหมาย Sharp ซึ่งมีผลกับโน้ตเดียวกันในห้องนั้น
C ตัวที่สี่ เป็นเสียง C ปกติ เพราะมีเครื่องหมาย Natural ซึ่งยกเลิกผลของเครื่องหมาย Sharp

     กลับมาตามสัญญากับเรื่องคีย์สีดำบน Piano ครับ 

     เห็นภาพนี้แล้วพอจะนึกอะไรออกมั้ยครับ
ลองทบทวน 2 ข้อความนี้ดู
1. คีย์ Piano ที่อยู่ติดกัน มีระยะห่างเท่ากับครึ่งเสียง (Half Step)
2. เครื่องหมาย Accidental (# และ b) มีไว้เพื่อเปลี่ยนระดับเสียงให้สูงขึ้นหรือต่ำลงครึ่งเสียง

     เมื่อพิจารณาแล้วก็สรุปได้ว่า คีย์สีดำบน Piano คือตัวโน้ตที่ติด Accidental (# และ b) นั่นเองครับ
แต่จะสังเกตุได้ว่าบนคีย์สีดำนั้นมีชื่อโน้ตอยู่สองชื่อ เช่น คีย์สีดำตัวแรก เป็นโน้ต C# และ Db
     นั่นเพราะว่า 
- เมื่อโน้ต C ติดเครื่องหมาย Sharp จะทำให้เสียงสูงขึ้นครึ่งเสียง และต้องย้ายไปอยู่บนคีย์สีดำทางขวา      ของคีย์ C
- เมื่อโน้ต D ติดเครื่องหมาย Flat จะทำให้เสียงต่ำลงครึ่งเสียง และต้องย้ายไปอยู่บนคีย์สีดำทางซ้าย        ของคีย์ D
     *ซึ่งทั้ง 2 คีย์นั้นอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน หรือก็หมายความว่า โน้ต C# และ Db ใช้คีย์สีดำคีย์เดียวกัน และเป็นโน้ตที่มีเสียงเหมือนกันนั่นเอง
     *สำหรับคู่ของ E-F และ B-C โน้ตสองคู่นี้ห่างกันครึ่งเสียงอยู่แล้ว แต่หากเติมเครื่องหมาย Accidental เข้าไปจะเป็น E# = F , Fb = E และ B# = C , Cb = B ตามคุณสมบัติของเครื่องหมาย Accidental 

     สำหรับการใช้เครื่องหมาย Double Sharp และ Double Flat ก็ใช้วิธีคิดแบบเดียวกัน เพียงแค่เปลี่ยนจากระยะครึ่งเสียงเป็นห่างหนึ่งเสียงเต็มครับ



หวังว่าคงช่วยให้เข้าใจและสามารถอ่านโน้ตดนตรีได้ดีขึ้นนะครับ ^ ^


BlackSwallowMusic